การเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม สำหรับทุกสถานการณ์
หลังจากบทความที่แล้ว แนะนำเรื่อง การเลือกใช้รูรับแสงให้เหมาะสมกับภาพแต่ละประเภท ไปแล้ว วันนี้จะเป็นเรื่องของ ความเร็วชัตเตอร์กันบ้างครับ
นอกจาก ชัตเตอร์สปีด จะมีหน้าที่ควบคุมการเปิดรับแสงแล้ว ก็ยังสามารถใช้ในการสร้างภาพที่หยุดการเคลื่อนไหว หรือบางครั้งก็ช่วยสร้างการเคลื่อนไหวให้กับภาพได้อีกด้วย
เมื่อคุณต้องการถ่ายภาพที่มีตัวแบบเคลื่อนไหว ให้หยุดนิ่ง การควบคุมความเร็วชัตเตอร์เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องใช้ให้เหมาะสม จะเห็นได้ว่า หากเราถ่ายภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว โดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า 1 / 100 วินาที อาจมีความเสี่ยงที่จะถ่ายภาพได้ไม่คมชัด
ความเร็วชัตเตอร์ขั้นต่ำ สำหรับหยุดการเคลื่อนไหว
ภาพนกที่กำลังบิน 1/800 – 1/2000
การถ่ายภาพนกที่กำลังบินอย่างรวดเร็วนั้น ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ ที่เร็วมาก ประมาณ 1/2000 วินาที เพื่อหยุดการเคลื่อนไหว และได้ภาพนกบินที่คมชัดสมบูรณ์ แต่อาจสร้างสรรค์ภาพได้อีกแบบ เช่น หากเราต้องการภาพนกบินที่คมชัด แต่เห็นปีกมีลักษณะของการเคลื่อนไหว เราอาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลง แต่ไม่ควรต่ำกว่า 1/400 วินาที
ภาพกีฬา 1/500 – 1/1000
การถ่านภาพกีฬาบางประเภท ที่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล อาจต้อง ใช้ ความเร็วชัตเตอร์ ถึง 1 /500 – 1 /1000 วินาที เพื่อที่จะหยุดการเคลื่อนไหวในขณะนั้น แต่กีฬาบางประเภทที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเร็ว อาจไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์มากนักก็ได้
ภาพแนวสตรีท 1/250 – 1/500
การถ่ายภาพบนท้องถนน หรือ ภาพแนววิถีชีวิต จะมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้คนเดินไปมา หรือเดินข้ามถนน แนะนำให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/250 – 1/500 วินาที หากต้องการได้ภาพที่คมชัด แต่การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่านี้ ก็อาจได้ภาพที่ดูมีการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเปลี่ยนอารมณ์ภาพให้ดูสวยไปอีกแนวก็ได้
ภาพวิวทิวทัศน์
การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ไม่ได้ระบุช่วงความเร็วชัตเตอร์ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าคุณ ถือถ่าย หรือ ถ่ายบนขาตั้งกล้อง อาจใช้สูตร ความเร็วชัตเตอร์ เท่ากับหรือมากกว่าทางยาวโฟกัส หรือหากใช้ความเร็วชัตเตอร์ ต่ำตั้งแต่ 1/40 วินาทีลงไป ก็จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพสั่นไหว
ความเร็วชัตเตอร์ สำหรับ ถ่ายแพนตามการเคลื่อนไหว
ภาพรถกำลังวิ่ง 1/15 – 1/125
การถ่ายภาพแพนตามรถกำลังวิ่ง ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ ให้เหมาะสมกับความเร็ว เช่น ถ่ายแพน รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/125 วินาที แต่ถ้าเป็นรถจักรยาน หรือรถที่วิ่งไม่เร็วมาก ก็ 1/30 – 1/60 หรือ ถ่ายแพน คนวิ่ง เด็ก หรือสัตว์ที่เคลื่อนไหว ก็อาจใช้ได้ต่ำถึง 1/15 วินาที ตามความเหมาะสม
ความเร็วชัตเตอร์ สำหรับถ่ายเบลอการเคลื่อนไหว
เบลอน้ำตก หรือน้ำที่ไหลเร็ว 1/8 – 2 sec
การถ่ายภาพน้ำตก หรือสายน้ำให้ดูนุ่มนวล ต้องใช้ ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง ขึ้นอยู่กับความเร็วของน้ำ เช่น น้ำตก ใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/8 หรือ น้ำที่ไหลช้าอาจใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลงจนถึง 2วินาที
เบลอการเคลื่อนไหวของน้ำให้ดูฟุ้ง นุ่มนวล 0.5 – 5 sec
ภาพวิวทิวทัศน์ ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น ทะเล น้ำไหล นักถ่ายภาพ มักจะทำภาพให้น่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยการใช้การเคลื่อนไหวของน้ำ สร้างภาพผิวน้ำที่ฟุ้งนุ่ม เหมือนสายหมอก โดยการ ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง ตั้งแต่ 0.5 – 5 วินาที
ดอกไม้ไฟ 2 – 4 sec
การถ่ายภาพดอกไม้ไฟ หากใช้ความเร็วชัตเตอร์น้อยเกินไป คุณจะได้แสงเป็นจุดๆ หรือแค่เส้นแสงเล็กๆ แต่ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป อาจได้ภาพที่แสงโอเวอร์ได้ ดังนั้นค่าที่เหมาะสมและนิยมที่สุด คือประมาณ 3-4 วินาที และจำเป็นต้องใช้ ขาตั้งกล้อง ทุกครั้ง
ความเร็วชัตเตอร์ สำหรับถ่ายดาว 15 – 25 วินาที
การถ่ายดาว ต้องใช้ระยะเวลาในการเปิดรับแสงที่นานขึ้น ประมาณ 15 – 25 วินาที เพื่อที่จะเก็บแสงสลัวๆของดาวได้ชัดเจน อาจใช้ร่วมกับ ISO ที่สูงขึ้น เพื่อขยายความไวแสงของตัวกล้อง หากใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงเกินไป จะได้รูปดาวที่ขนาดเล็กและไม่ชัดเจน แต่ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าเกินไป (เกิน30วินาที) คุณอาจได้เอฟเฟคดาวเป็นเส้น หรือถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ เกิน 15 นาที เป็นต้นไป อาจได้เอฟเฟคดาวหมุนเลยก็ได้
สำหรับการตั้งค่าที่แนะนำ ไม่ได้ได้เป็นค่าที่ตายตัว สามารถใช้ค่าอื่นๆได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้ถ่าย ยังไงลองนำไปใช้งานกันดูครับ
ติดตามบทความอื่นได้ทาง เว็บไซต์ digital2home.com สวัสดีครับ